สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จัดกิจกรรมการอบรมในโครงการพัฒนาครูโรงเรียนเอกชน (ระดับมัธยมศึกษา)


 มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และ คณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชนในพื้นที่ศึกษาธิการ ภาค 12 จัดกิจกรรมการอบรมในโครงการพัฒนาครูโรงเรียนเอกชน เรื่อง การสอนคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการคิด สำหรับศตวรรษที่ 21 ระดับมัธยมศึกษา ระหว่างวันที่ 19-20 ตุลาคม 2562 ณ สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน

  วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2562 เวลา 09.30 น. พิธีเปิดการอบรมโครงการพัฒนาครูโรงเรียนเอกชนในเขตพื้นที่ ภาค 12 เรื่อง การสอนคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการคิดสำหรับศตวรรษที่ 21 ระดับมัธยมศึกษา กล่าวรายงานโดย นายมาโนช จุลสุคนธ์ ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน จังหวัดร้อยเอ็ด ในนามของคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ และคณะกรรมการจัดการอบรม และได้รับเกียรติจาก ดร.เพิ่มพูน พงษ์พวงเพชร ศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรม โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา และรักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวต้อนรับแขกผู้มีเกียรติและผู้เข้าร่วมการอบรม โดยกิจกรรมในครั้งนี้เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกันต่อเนื่องจากการอบรมในโครงการพัฒนาครูโรงเรียนเอกชน เรื่อง การสอนคณิตศาสตร์เพื่อพัฒนาทักษะการคิด สำหรับศตวรรษที่ 21 ระดับประถมศึกษา ในวันที่ 5-8 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

  โดย ดร.เพิ่มพูน พงษ์พวงเพชร ศึกษาธิการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า “การจัดการอบรมโครงการพัฒนาครูโรงเรียนเอกชน มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาครูโรงเรียนเอกชนให้มีความรู้ในเรื่องการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21 นับเป็นเรื่องสําคัญที่จําเป็นต้องมีการขับเคลื่อนอย่างเร่งด่วน เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งในกระแสของการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี เหล่านี้เป็นสิ่งท้าทายครูยุคใหม่ในการจัดองค์ความรู้ให้บังเกิดต่อการพัฒนาผู้เรียน ดังนั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ครูจึงจำเป็นที่จะต้องปรับการจัดการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อสามารถนำผู้เรียนไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และนำโรงเรียนไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่พร้อมจะพัฒนาทักษะด้านการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี และทักษะด้านอาชีพและการใช้ชีวิต”

 จากนั้นเวลา 10.00 น. เป็นกิจกรรมการบรรยายในหัวข้อ การทำ “Kyozai Kenkyu (เคียวไซ เคงคิว)” ใน “การศึกษาชั้นเรียน” และ “วิธีการแบบเปิด” โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษา รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายกสมาคมคณิตศาสตรศึกษา

 และกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบไปด้วย กิจกรรมการเขียนแผนการสอนตามแนวทาง “Kyozai Kenkyu (เคียวไซ เคงคิว)” ระดับมัธยมศึกษา โดยแบ่งห้องอบรมออกเป็น 3 ห้องคู่ขนาน และวันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม 2562 เป็นกิจกรรมการเปิดชั้นเรียน (Open Class) ตามกระบวนการการศึกษาชั้นเรียนและวิธีการแบบเปิด ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 นักเรียนมาจากโรงเรียนมหาไถ่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น จำนวน 20 คน ดำเนินการสอนโดย อาจารย์ณัฐวัตร สุดจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระราชูปถัมภ์

  การจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับความสนใจจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ รวมถึงประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ผู้บริหารโรงเรียน ตลอดจนคณะครูโรงเรียนเอกชน ในจังหวัดขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม และกาฬสินธุ์ จำนวนกว่าหนึ่งร้อยคน

 ข่าว พีรณัฐ เอี่ยมทอง/ภาพ ไกรรัฐ มันหาท้าว,ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา

สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น