ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอำเซียน ได้รับเชิญจากสถาบันอาศรมศิลป์ ให้เป็นวิทยากรบรรยายและอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้บริหาร ครู ภายใต้โครงการ “วิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการจัดการศึกษาระดับจังหวัด: กรณีศึกษาจังหวัดระยองและจังหวัดศรีสะเกษ” เพื่อพัฒนาผู้บริหาร ครู โรงเรียนต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง


     วันที่ 2-3 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา รองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอำเซียน และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ เอื้อจิตร พัฒนจักร ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ช่างศรี ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนักวิจัยประจำศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเชิญจากสถาบันอาศรมศิลป์ ให้เป็นวิทยากรบรรยายและอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับผู้บริหาร ครู ภายใต้โครงการ “วิจัยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมการจัดการศึกษาระดับจังหวัด: กรณีศึกษาจังหวัดระยองและจังหวัดศรีสะเกษ” เพื่อพัฒนาผู้บริหาร ครู โรงเรียนต้นแบบพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง ปีที่ 1 จำนวน 25 โรงเรียน กว่า 200 คน ณ โรงเรียนระยองวิทยาคมปากน้ำ จังหวัดระยอง

     โดยในวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2562 รองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ ได้บรรยายหัวข้อ “การใช้นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด (Open Approach) ผ่านการใช้หนังสือเรียนคณิตศาสตร์แนวใหม่” โดยในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว ได้มีการอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้หนังสือเรียนคณิตศาสตร์แนวใหม่ ที่เน้นการแก้ปัญหา (Problem Solving) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล ช่างศรี และระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยรองศาสตราจารย์ เอื้อจิตร พัฒนจักร ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมเป็นอย่างมาก

     ในวันอาทิตย์ ที่ 3 มีนาคม 2562 เป็นการเปิดชั้นเรียน (Open Class) ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยนักวิจัยประจำศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา เรื่องพื้นที่ ซึ่งชั้นเรียนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนสามารถกำหนดหน่วยไม่เจาะจง (Arbitrary unit) เพื่อใช้ในการเปรียบเทียบพื้นที่ได้ โดยใช้สื่อการเรียนการสอนที่เรียกว่า Pattern Blocks ที่ทีมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study Team) ร่วมกันพัฒนาขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียนคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น