มข.เปิดบ้านต้อนรับสายการบินแห่งชาติลาว ย้ำความพร้อมเป็นศูนย์อบรมการบิน


»   สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มข. เปิดบ้านต้อนรับผู้บริหารสายการบินแห่งชาติลาว และเตรียมความพร้อมฝึกอบรมการบินให้กับพนักงานการบินสายการบินแห่งชาติลาว «

   วันที่ 15 สิงหาคม 2562 ณ ห้อง SmartClassroom ชั้น 4 อาคารสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน รองศาสตราจารย์ ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายการศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน พร้อมด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน และ นายกฤต รัตนราช ผู้อำนวยการโรงเรียนการบิน อาเซียน ไฟลท์ อคาเดมี ได้ให้การต้อนรับ ท้าวสมฤทธิ์ สีหะวง หัวหน้าแผนกความปลอดภัย คุณภาพและนิรภัยการบิน รัฐวิสาหกิจการบินลาว และ กัปตันกาแก้ว หัวหน้าแผนกฝึกอบรมและมาตรฐานการบินของรัฐวิสาหกิจการบินลาว ตลอดจนนักบิน เข้าเยี่ยมชมและตรวจสอบหลักสูตรการฝึกอบรมการบิน ตลอดจนการสอนของโรงเรียนการบิน อาเซียน ไฟลท์ อคาเดมี ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

    สืบเนื่องจาก มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีการจัดโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านการพัฒนาการคิดขั้นสูง มาตั้งแต่ปี 2006 เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมการศึกษาชั้นเรียน (Lesson Study) และวิธีการแบบเปิด ( Open Approach) กระทั่งปัจจุบันได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และหน่วยงานระดับนานาชาติ ซึ่งมุ่งเน้นผลิตครูที่จะสร้างเด็กที่มีความสุขสนุกกับชั้นเรียนและสามารถสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนคิดเป็น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการสอนให้เด็กคิดตามแบบท่องจำ ฉะนั้นจึงเกิดความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีจุดเด่นด้านการสอนในชั้นเรียน และโรงเรียนการบิน Asean Flight Academy ที่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านการบิน จึงเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งในการตอบโจทย์ความต้องการนักบินที่เพิ่มขึ้นในอนาคตและยังเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนที่สนใจในอาชีพนักบิน

   การผสานความร่วมมือทางวิชาการด้านการบินพาณิชย์กับโรงเรียนการบิน Asean Flight Academy ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ประสบการณ์จากผู้มีความรู้ รวมไปถึงการร่วมกันพัฒนาบุคลากรบุที่มีคุณภาพตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน

   ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐพัชญ์ อนันต์ธีระกุล ผู้ทรงคุณวุฒิสถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน กล่าวว่า “นักบิน” เป็นวิชาชีพที่ใฝ่ฝันของใครหลายคน มีความมั่นคงและยังมีความต้องการในตลาดการบินอยู่มากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคอาเซียน ที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างสูง ทั้งในส่วนของการขนส่ง การส่งออกการท่องเที่ยว และการผลิตสินค้าต่าง ๆ ส่งผลให้อุตสาหกรรมการบินมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ในขณะเดียวกันองค์กรการบินระหว่างประเทศ ได้เพิ่มระดับการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยของประเทศไทยขึ้น กอปร กับ รัฐบาลไทยได้ผ่าน พรบ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 (EEC) เพื่อกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นและหนึ่งในหัวใจของการส่งเสริมกิจกรรมในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษนี้ คือยุทธศาสตร์ที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินประจำภูมิภาคอันหมายถึงอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย จะยิ่งทวีความต้องการบุคลากรที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก อีกทั้งจังหวัดขอนแก่น ในอนาคตจะมีสนามบินแห่งที่ 2 เกิดขึ้น ที่ อ.น้ำพอง โดยจะมีการตัดถนน ระยะ 18 กิโลเมตร เพื่อวิ่งจากตัวเมืองเข้าสู่สนามบินน้ำพอง เป็นสนามบินตั้งอยู่ใน ต.บัวใหญ่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น สร้างขึ้นโดยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเวียดนาม ปัจจุบันสนามบินน้ำพองเป็นเขตทหารของฝูงบิน 237 กองทัพอากาศไทย จึงเป็นการดีที่จะมีการร่วมมือส่งศิษย์การบินลาวมาศึกษาที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นแห่งนี้

   ท้าวสมฤทธิ์ สีหะวง หน.แผนกความปลอดภัย คุณภาพและนิรภัยการบิน รัฐวิสาหกิจการบินลาว กล่าวว่า การมาตรวจสอบหลักสูตรการฝึกอบรม ตลอดจนการสอน ที่สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้ รู้สึกดีใจที่ได้เห็นศูนย์ฝึกอบรมการบินขอนแก่น ซึ่งมีความก้าวหน้า มีบุคลากรที่มีประสบการณ์และมีคุณภาพ รวมถึงศูนย์ฝึกอบรมที่มีความพร้อมในด้านการฝึกอบรมการบินเป็นอย่างมาก ซึ่งทางสายการบินแห่งชาติลาว ต้องขอขอบคุณทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ให้ความไว้วางใจกับสายการบินแห่งชาติลาวที่ได้มาเยี่ยมชมในครั้งนี้ เพราะมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความก้าวหน้าในการฝึกและสั่งสอนประสบการณ์แก่บุคลากรที่มีคุณภาพ อย่างในเรื่องอาคารหรือสถานที่ต่างๆ มีความใหม่ สะอาด ทันสมัย เหมาะกับการฝึกอบรมการบิน ดังนั้น จึงมีความเชื่อมั่นในศูนย์ฝึกอบรมการบินที่จะสามารถรองรับเกี่ยวกับการฝึกอบรมพนักงานภาคพื้นดิน ซึ่งหากศูนย์ฝึกอบรมการบินขอนแก่นสามารถรองรับในส่วนนี้ได้ คาดว่าจะมีความร่วมมือที่ดี รวมถึงการส่งพนักงานการบินมาฝึกอบรมที่จังหวัดขอนแก่นมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาทางสายการบินแห่งชาติลาว ก็ได้ส่งพนักงานการบินไปฝึกที่ประเทศจีนและเวียดนาม ซึ่งค่าใช้จ่ายค่อนข้างมากและภาษาไทยกับลาวสามารถเข้าใจกันได้ง่าย ก็ขอขอบคุณที่มีการต้อนรับจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น อย่างอบอุ่น และหวังว่าในอนาคตลาวกับไทยจะได้ร่วมมือกันในอีกหลายๆด้านต่อไป

 ข่าว: พีรณัฐ เอี่ยมทอง/ภาพ: ไกรรัฐ มันหาท้าว

สถาบันวิจัยและพัฒนาวิชาชีพครูสำหรับอาเซียน มหาวิทยาลัยขอนแก่น